โครงการประกวดสื่อสิทธิเด็กอาเซียน
“สังคมอาเซียนที่เป็นมิตรกับเด็กและเยาวชน”
๑. ที่มาและสภาพปัญหา
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กได้ระบุสิทธิในการมีส่วนร่วมไว้เป็นหนึ่งในสี่สิทธิขั้นพื้นฐานของเด็ก อนุสัญญาข้อ ๑๒ – ๑๖ กล่าวถึงสิทธิของเด็กในการแสดงความคิดเห็นโดยเสรีในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับตนเอง และสิทธิ ในการแสดงออก สิทธิในความคิด มโนภาพ และศาสนา สิทธิที่จะมีเสรีภาพในการสมาคม และการชุมนุมอย่างสงบ ตลอดจนสิทธิที่จะไม่ถูกแทรกแซงโดยพลการ หรือไม่ชอบด้วยกฎหมายในความเป็นส่วนตัว ครอบครัว บ้าน หรือการติดต่อสื่อสาร หรือไม่ถูกกระทำโดยมิชอบต่อเกียรติ และชื่อเสียงของตน ในขณะเดียวกัน กฎบัตรอาเซียน ข้อ ๑ (๑๓) ได้ระบุว่า เป้าหมายหนึ่งของอาเซียนคือการส่งเสริมอาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งทุกภาคส่วนของสังคมได้รับการกระตุ้นให้มีส่วนร่วมและได้รับประโยชน์จากกระบวนการรวมตัว และการก่อตั้งประชาคมอาเซียน แผนการจัดตั้งประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนได้ระบุความมุ่งมั่นของอาเซียนที่จะส่งเสริมความยุติธรรมทางสังคม และการนำสิทธิมนุษยชนมาเป็นส่วนสำคัญของนโยบายและวิถีชีวิต ซึ่งรวมถึงสิทธิและสวัสดิภาพของกลุ่มเปราะบาง เช่น กลุ่มเด็ก
อย่างไรก็ตาม ในระยะ ๑๐ ปีที่ผ่านมา การมีส่วนร่วมของเด็กในอาเซียนยังไม่เป็นที่ยอมรับและส่งเสริมอย่างเท่าเทียมกันในประเทศสมาชิกอาเซียน เนื่องจากความแตกต่างด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของแต่ละประเทศ โอกาสของเด็กในการแสดงออก และมีส่วนร่วมในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิเด็กในระดับภูมิภาคจึงยังจำกัดอยู่ ต่อมาในการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านสวัสดิการสังคมและการพัฒนา ซึ่งจัดขึ้นเมื่อปี ๒๕๕๑ ณ กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ได้มีมติให้มีการประชุมเด็กอาเซียนขึ้น เพื่อเป็นเวทีให้เด็กอาเซียนได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและมีส่วนร่วมในการเสนอข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิเด็กต่อประเทศสมาชิกอาเซียน
การประชุมเด็กอาเซียน ครั้งที่ ๑ ณ ประเทศฟิลิปปินส์ ในปี ๒๕๕๓ และครั้งที่ ๒ ณ ประเทศสิงคโปร์ ในปี ๒๕๕๕ ได้สร้างเสริมความตระหนักของประเทศสมาชิกอาเซียนในเรื่องการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชน ในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิเด็ก ข้อเสนอแนะจากการประชุมทั้ง ๒ ครั้ง เน้นความต่อเนื่องและสม่ำเสมอของการประชุม เพื่อให้เด็กและเยาวชนอาเซียนได้มีบทบาทเป็นแกนนำในกระบวนการดังกล่าว โดยประเทศไทยได้รับมอบหมายให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเด็กอาเซียน ครั้งที่ ๓ ในปี ๒๕๕๗ “สังคมอาเซียนที่เป็นมิตรกับเด็กและเยาวชน – Child and Youth Friendly ASEAN” แบ่งการดำเนินงานออกเป็น ๒ ระยะ คือ ระยะที่ ๑ เป็นการประกวดสื่อสิทธิเด็กอาเซียน ดำเนินการในปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๖ และระยะที่ ๒ เป็นการประชุมเด็กอาเซียน ครั้งที่ ๓ ดำเนินการในปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๗
๒ วัตถุประสงค์
(๑) เพื่อให้เด็กและเยาวชนของประเทศสมาชิกอาเซียนและอาเซียน + ๓ ได้แสดงออกในด้านการส่งเสริมและพัฒนาสิทธิเด็กในประชาคมอาเซียน
(๒) เพื่อส่งเสริมการใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์ให้กับเด็กและเยาวชนอาเซียน
(๓) เพื่อเผยแพร่แนวคิดการจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนในอาเซียน
(๔) เพื่อคัดเลือกตัวแทนเด็กและเยาวชนของประเทศสมาชิกอาเซียนและอาเซียน + ๓ เข้าร่วมการประชุมเด็กอาเซียน ครั้งที่ ๓
(๕) เพื่อเผยแพร่ผลงานการผลิตสื่อรณรงค์ หัวข้อ “สังคมอาเซียนที่เป็นมิตรกับเด็กและเยาวชน – Child and Youth Friendly ASEAN”
๓. ระยะวลาการประกวด
(๑) การแถลงข่าวการประกวด : วันศุกร์ที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๕๖
(๒) การประกาศรับผลงานในแต่ละประเทศ : เดือนกรกฎาคม – ๑๕ สิงหาคม ๒๕๕๖
(๓) การตัดสินผู้ชนะการประกวดในแต่ละประเทศและการประกาศผล : เดือนสิงหาคม ๒๕๕๖
(๔) การตัดสินผู้ชนะการประกวดระดับอาเซียน : เดือนมกราคม ๒๕๕๗ (ในการประชุมเด็กอาเซียน ครั้งที่ ๓)
๔. ผลที่คาดว่าจะได้รับ
(๑) การเชื่อมประสานระหว่างเด็กและเยาวชนในประเทศสมาชิกอาเซียนในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และการแสดงความห่วงใยในเรื่องการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิเด็กในประเทศสมาชิกอาเซียน
(๒) วิดีทัศน์เรื่อง “สังคมอาเซียนที่เป็นมิตรกับเด็กและเยาวชน” ของผู้ชนะการประกวด ซึ่งสามารถนำมาเป็นสื่อในการรณรงค์ในประเทศของตนได้
(๓) ความคิดเห็นของเด็กและเยาวชนซึ่งสามารถนำไปใช้ในกระบวนการคุ้มครองเด็กในระดับชาติและภูมิภาค
๕. คุณสมบัติผู้สมัคร
๕.๑ แบ่งผู้สมัครเป็น ๒ ประเภท ได้แก่
๑) ประเภทเด็ก จะต้องมีอายุระหว่าง ๑๒ – ๑๗ ปี
๒) ประเภทเยาวชน จะต้องมีอายุระหว่าง ๑๘ – ๒๕ ปี
๕.๒ ผู้สมัครจะต้องสามารถเป็นผู้แทนเด็ก และผู้แทนเยาวชนของประเทศไทย เข้าร่วมการประชุมเด็ก
อาเซียน ครั้งที่ ๓ ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ในวันเวลาที่ทางผู้จัดประกาศให้ทราบได้
๖. ขั้นตอน เงื่อนไข และกติกา
(๑) หัวข้อการประกวด : “สังคมอาเซียนที่เป็นมิตรกับเด็กและเยาวชน – Child and Youth Friendly ASEAN”
(๒) แนวคิด : การเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของเด็กและเยาวชนอาเซียน และเปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนได้แสดงความคิดเห็นต่อภาพของประชาคมอาเซียนที่เด็กและเยาวชนอยากเห็น อยากให้เป็น เพื่อเด็กและเยาวชนจะได้ดำเนินชีวิตอยู่ในประชาคมอาเซียนอย่างมีความเข้าใจและมีความสุข
(๓) ขั้นตอนการสมัคร
ดาวน์โหลดใบสมัครได้ที่ www.ASEAN4Youth.org หรือ www.ThaiYouthNews.com
หรือ www.opp.go.th หรือ www.facebook.com/ASEANforYouth พร้อมกรอกรายละเอียดให้ครบถ้วน
· ผู้สมัครสามารถส่งผลงานเป็นทีมได้ทีมละ ๑ – ๓ คน
· เอกสารประกอบการสมัครของผู้สมัคทุกคนในทีม คือ สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือเอกสารแสดงสถานะบุคคลอื่นใดที่ได้รับการรับรองจากราชการ พร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง
(๔) วิธีส่งผลงาน
สิ่งที่ต้องส่ง
๑. ใบสมัคร
๒. ผลงานการผลิตสื่อ
· ส่งทางอีเมล์ โดยทำการอัพโหลดผลงานขึ้นทาง You Tube หรือ Web Host ใด ๆ ก็ได้ และแนบลิงค์พร้อมเรื่องย่อ ส่งมาที่ ASEAN4Youth@yahoo.com
หรือทางไปรษณี ที่ ตู้ ปณ.79 ปณฝ.บางเขน กรุงเทพฯ 10220
ภายในวันที่ 15 สิงหาคม 2556 ( เวลา 23.59 น. )โดยยึดวันที่และเวลาส่งเป็นสำคัญ
· ผลงานที่ชนะเลิศ จะได้รับการเผยแพร่และเป็นผู้แทนประเทศไทย ในการประกวดระดับอาเซียน + ๓ ในการประชุมเด็กอาเซียน ครั้งที่ ๓ ณ กรุงเทพฯ
หมายเหตุ : ขั้นตอนการสมัคร ระยะเวลา และวิธีการส่งผลงานสำหรับประเทศอาเซียนอีก ๙ ประเทศ และอาเซียน + ๓ ดำเนินการโดยเครือข่ายคณะกรรมการประสานงานเยาวชนอาเซียน
(๕) หลักเกณฑ์และเงื่อนไข
· ผลงานความยาว ๓ - ๕ นาที
· ส่งเข้าประกวดเป็นบุคคล หรือเป็นทีม (๑ – ๓ คน) ในกรณีสมัครเป็นทีม จะต้องระบุในใบสมัครว่า หากได้รับรางวัลชนะเลิศ ใครจะเป็นผู้แทนทีม (๑ คน) ที่จะเข้าร่วมการประชุมเด็กอาเซียน ครั้งที่ ๓ ณ กรุงเทพฯ
· วิดีทัศน์ ไม่จำกัดรูปแบบ และจินตนาการ สามารถส่งได้ทุกรูปแบบ เช่น หนังสั้น สารคดี ข่าว แอนนิเมชั่น เพลง วิดีทัศน์ ละคร stop motion โฆษณา หนังเงียบ ฯลฯ
· เนื้อหาในวิดีทัศน์ต้องไม่มีการพาดพิง ล่วงละเมิดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ ตลอดจนบุคลากร สมาคม การเมือง หรือองค์กรใด ๆ อันจะทำให้เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียง และเกิดความขัดแย้ง
· ไม่เป็นผลงานที่ลอกเลียนแบบ หรือละเมิดลิขสิทธิ์ทางปัญญาของบุคคลหรือกลุ่มใด
· หากมีการใช้ภาพ เพลง ดนตรี ที่มีลิขสิทธิ์ทางปัญญา ต้องมีการแจ้งที่มา ชื่อเจ้าของลิขสิทธิ์
· ต้องเป็นผลงานที่ไม่เคยส่งประกวดในโครงการอื่นมาก่อน
· คณะกรรมการตัดสิน ขอสงวนสิทธิ์ในการตัดสิทธิผู้เข้าร่วมประกวดได้ทันที โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใด ๆ หากตรวจสอบพบว่า ผู้เข้าร่วมประกวดไม่ปฏิบัติตามกฎ กติกา หรือมีข้อความใดเป็นเท็จ หรือทำการลอกเลียนแบบ ซึ่งถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น หรือตามดุลพินิจของคณะกรรมการ
· คณะกรรมการ ขอสงวนลิขสิทธิ์ในการนำผลงานที่เข้าร่วมการประกวด มาใช้เพื่อประโยชน์ทางการศึกษา รณรงค์หรือการพัฒนาได้ และสามารถนำผลงานไปเผยแพร่เพื่อสาธารณะประโยชน์ได้
· ผลการตัดสินของคณะกรรมการ ถือเป็นที่สิ้นสุด
(๖) เกณฑ์การพิจารณาผลงาน
ความคิดสร้างสรรค์ ๔๐%
ประเด็นเนื้อหาที่นำเสนอ ๓๐%
คุณภาพการผลิต ๓๐%
(๗) รางวัล
ผู้ชนะการประกวดระดับประเทศ
- โล่ ประกาศนียบัตร จากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
- ได้ร่วมเป็นผู้แทนประเทศไทย ในการประชุมเด็กอาเซียน ครั้งที่ ๓ ณ กรุงเทพฯ ร่วมกับผู้แทนเด็กและเยาวชนจาก ๑๓ ประเทศ ( ประเทศสมาชิกอาเซียน ๑๐ ประเทศ และอาเซียน + ๓ จีน, ญี่ปุ่น, เกาหลี )
- อุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์สำหรับการผลิตสื่อ
- ผลงานมีโอกาสเข้าชิงรางวัลชนะเลิศระดับภูมิภาค ในการประกวดสื่อสิทธิเด็กอาเซียน
- เฉพาะการประกวดในประเทศไทย จะได้รับทุนการศึกษา
ชนะเลิศ ( มี ๒ รางวัลคือ ประเภทเด็ก และ ประเภทเยาวชน )
- ทุนการศึกษา ๑๐,๐๐๐ บาท
- ประกาศนียบัตร จากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
รองชนะเลิศ อันดับ ๑ ( มี ๒ รางวัล คือ ประเภทเด็ก และ ประเภทเยาวชน )
- ทุนการศึกษา ๕,๐๐๐ บาท
- ประกาศนียบัตร จากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
รองชนะเลิศ อันดับ ๒ ( มี ๒ รางวัลคือ ประเภทเด็ก และ ประเภทเยาวชน )
- ทุนการศึกษา ๓,๐๐๐ บาท
- ประกาศนียบัตร จากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
ชมเชย ( มี ๑๔ รางวัลคือ ประเภทเด็ก ๗ รางวัล และ ประเภทเยาวชน ๗ รางวัล )
- ทุนการศึกษา ๑,๐๐๐ บาท
- ประกาศนียบัตร จากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
(๘) คณะกรรมการตัดสิน
- ผู้แทนสำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส และผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
- ผู้แทนสภาองค์การพัฒนาเด็กและเยาวชนในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ
- ผู้แทนสมาคมศูนย์ข่าวเยาวชนไทย
- ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิชาการที่เกี่ยวข้อง เช่น การผลิตสื่อ , นิเทศศาสตร์ , เยาวชน ฯลฯ เป็นต้น
- ผู้ทรงคุณวุฒิวงการผลิตสื่อ เช่น ผู้กำกับการแสดงภาพยนตร์ , นักแสดง ฯลฯ เป็นต้น
(๙) ติดตามข่าวสารการประกวด หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
- สมาคมศูนย์ข่าวเยาวชนไทย www.ThaiYouthNews.com อีเมล ASEAN4Youth@yahoo.com
หรือเฟสบุ๊ค www.facebook.com/ASEANforYouth โทร. 091-882-6818