คณะกรรมาธิการอาเซียนว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิสตรีและสิทธิเด็ก(ASEAN Commission on the Promotion of the Rights of Women and Children - ACWC)จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2552 โดยมีสถานะเป็นองค์กรระหว่างรัฐบาล (intergovernmental body) ในอาเซียนที่ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาด้านสิทธิสตรีและสิทธิเด็ก โดยมีผู้แทนจากประเทศสมาชิกอาเซียนประเทศละ 2 คน ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิและผู้ที่มีบทบาทด้านสิทธิสตรีและสิทธิเด็ก ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลเพื่อร่วมกันทำงานเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของสตรีและเด็ก รวมทั้งส่งเสริมการดำเนินการตามกลไกระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน
แผนงานของคณะกรรมาธิการอาเซียนว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิสตรีและสิทธิเด็ก (ACWC Work Plan ค.ศ. 2012 – 2016) มุ่งส่งเสริมการขจัดความรุนแรงต่อสตรีและเด็ก การส่งเสริมสิทธิเด็กให้มีส่วนร่วมในทุกเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อเด็ก (right of children to participate in all affairs that affect them) การต่อต้านการค้าสตรีและเด็ก การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของสตรีในทางการเมืองและการกำหนดนโยบาย การส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิสตรีพิการและสิทธิเด็กพิการ การส่งเสริมระบบคุ้มครองเด็ก (child protection system) การส่งเสริมสิทธิเด็กในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ การส่งเสริมการปฏิบัติตามกลไกระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับสิทธิสตรีและสิทธิเด็ก การส่งเสริมความเสมอภาคในการศึกษา การส่งเสริมการดูแลสตรีและเด็กที่ติดเชื้อ HIV/AIDS การส่งเสริมการปกป้องสตรีและเด็กที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การส่งเสริมสิทธิด้านเศรษฐกิจของสตรีการส่งเสริมสุขภาพเด็ก การส่งเสริมทัศนะด้านเพศภาวะในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และโครงการสำหรับแรงงานโยกย้ายถิ่นฐาน
เมื่อวันที่ 22 – 24 กรกฎาคม 2556 ในการประชุม ACWC ครั้งที่ 7 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ผู้แทน ACWC จากประเทศสมาชิกอาเซียนได้จัดทำปฏิญญาว่าด้วยการขจัดความรุนแรงต่อสตรีและเด็ก(Declaration on the Elimination of Violence Against Women and Elimination of Violence Against Children) โดยปฏิญญาฯ ระบุชัดเจนว่าความรุนแรงต่อสตรีและเด็กเป็นอุปสรรคต่อการสร้างความเท่าเทียมกันในสังคม รวมทั้งเป็นอุปสรรคต่อการส่งเสริมสันติภาพและการพัฒนาโดยรวมดังนั้น ACWC จึงมุ่งมั่นที่จะเสริมสร้างนโยบายที่เข้มแข็ง และปรับปรุงและแก้ไขกฎหมาย ตลอดจนพัฒนาศักยภาพของสถาบันที่เกี่ยวข้องในการต่อต้านความรุนแรงต่อสตรีและเด็ก ทั้งนี้ ACWC ยังได้ย้ำถึงความสำคัญของมาตราการต่าง ๆ ได้แก่ การสร้างระบบสวัสดิการระดับชาติที่มีทรัพยากรที่เพียงพอ การคุ้มครองและฟื้นฟูผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการถูกละเมิดสิทธิ ส่งเสริมการบังคับใช้กฎหมายเพื่อต่อต้านความรุนแรงต่อสตรีและเด็ก และการคุ้มครองสิทธิสตรีและสิทธิเด็ก นอกจากนี้ ปฏิญญาดังกล่าวข้างต้นยังได้คำนึงถึงปัจจัยอื่น ๆ ซึ่งก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสตรีและเด็ก อาทิ ความขัดแย้ง การย้ายถิ่นฐาน ภัยพิบัติ เหตุการณ์ฉุกเฉิน การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ การค้ามนุษย์ ปัญหาด้านแรงงาน และปัจจัยท้าทายสำหรับคนพิการ และชนเผ่าพื้นเมือง
ทั้งนี้ จะมีการนำเสนอร่างปฏิญญา ฯ ให้ที่ประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านสวัสดิการสังคมและการพัฒนา ครั้งที่ 8 (8th AMMSWD)ระหว่างวันที่ 6 – 7 กันยายน 2556 พิจารณาก่อนนำเสนอต่อที่ประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 23 ในเดือนตุลาคม 2556